Cat Radio โตโต แมวแมว ขอเพลงได้ที่ 02-530-9611

Bed Tips : เต๊นท์

Bed Tips : เต๊นท์ ศิวนัส
(เรียบเรียงจากการออกอากาศในรายการ Bedroom Studio เมื่อ 15 ตุลาคม 2564)
 
 
            เต๊นท์ - ศิวนัส บุญศรีพรชัย เป็น ศิลปิน นักประพันธ์ นักออกแบบเสียง และอาจารย์
มีผลงานกับวง Summer Dress และ Game of Sounds เคยทำค่ายเพลง Tomato Love  เคยทำเพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงโฆษณา รวมถึงโปรเจกต์ต่างๆ นับเป็นคนดนตรีมีฝีมือที่เหล่า
ลูกศิษย์ พี่น้อง และผองเพื่อน อยากรู้เคล็ดลับในการทำเพลงไม่น้อย 

Summer Dress
 
เต๊นท์แนะนำตัว
           สวัสดีครับ ผมศิวนัส บุญศรีพรชัย นะครับ ชื่อเล่นชื่อว่าเต๊นท์นะครับ เป็นคอมโพสเซอร์ เป็นซาวด์ดีไซเนอร์ เป็นศิลปินครับ แล้วก็เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรครับผม
            ผลงานในปี 2021 นี้จะมีอีกโปรเจกต์หนึ่งนะครับ นอกจาก Summer Dress (ซัมเมอร์ เดรส) ก็เป็นวง Game Of Sounds (เกมออฟซาวด์) นะครับ จะออกซิงเกิลน่าจะเร็วๆ นี้ คาดว่าอัลบั้มเต็มน่าจะออกปีหน้า ปี 2022 ครับผม
 

Durian ทุเรียน Game Of Sounds
แรงบันดาลใจในการแต่งเพลง
          แรงบันดาลใจในการเริ่มทำเพลงที่มีเนื้อร้องทำนอง  ก็เกิดจากช่วงประมาณปี 2010 กว่าๆ นะครับ ได้ฟังเพลงของสมอลล์รูมในช่วงนั้น ชอบวงแทททูคัลเลอร์มากนะครับ อย่างเพลง ‘ฝากที’  เรารู้สึกว่าเนื้อหาก็ดีมากๆ อยู่แล้วนะครับ ตัวดนตรีกับวิธีการเรียบเรียงของเขานี่ก็แตกต่างจากเพลงที่เราเคยฟังก่อนหน้านี้ ก็เลยถือว่าเป็นแรงบันดาลใจแรกๆ ในการเริ่มทำเพลง แล้วก็เอาวงแทททูคัลเลอร์มาเป็นต้นแบบในการทำเพลงช่วงแรกๆ ของผมครับ

ฝากที - Tattoo Colour
 
            พอเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยก็เจอเพื่อนหลากหลาย มีวงที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านอีกวงหนึ่ง ชื่อวงว่า The Whitest Boy Alive นะครับ เป็นเพลงสากล  ตอนนั้นเราชอบวิธีการเรียบเรียงของเขา มีแค่สี่คนนะครับ ใช้องค์ประกอบทางดนตรีน้อยมาก แล้วก็สามารถทำให้เพลงพัฒนาไปจนจบเพลง มีไดนามิกขึ้นลงแล้วก็มีความเต็มได้ในแค่สี่คนนะครับ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มสนใจการเรียบเรียงดนตรีมากขึ้นครับ
 

1517 - The Whitest Boy Alive
 
สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดเวลาแต่งเพลง
            ว่าด้วยเรื่องการแต่งเพลง   ความสำคัญที่จะให้มันแล้วแต่โปรเจกต์ แล้วแต่โจทย์ แล้วแต่เป้าหมายที่ได้ทำในช่วงนั้นนะครับ
            ถ้าสมมุติ เป็นเพลงป๊อป ก็อาจจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทำนอง แล้วก็ตัวเนื้อร้องว่าจะต้องสื่อสารอย่างไร โครงสร้างการเล่าเรื่องเป็นอย่างไร คำที่ใช้ในเรื่องเป็นอย่างไร
            แต่ถ้าสมมุติว่าเป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อเรื่อง เป็นเพลงประกอบก็จะให้ความสำคัญกับตัวซาวด์คัลเลอร์นะครับ เครื่องดนตรีที่จะใช้ แล้วก็จุดที่จะเอาไปประกอบกับภาพว่าสมเหตุสมผลพอหรือเปล่านะครับ
            ส่วนถ้าเป็นโปรเจกต์มาทางงานอาร์ตหน่อยอย่างวงซัมเมอร์เดรสหรือว่าเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวของผมนี่ ก็จะให้ความสำคัญกับแนวคิดมากกว่าครับ ว่าเราอยากจะทดลองอะไร  อยากจะรู้ผลลัพธ์อะไรมากเป็นพิเศษหรือเปล่า แล้วก็คิดกระบวนการขึ้นมาเพื่อจะเอาไปลงมือทดลองดูว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนะครับ
             สรุปแล้วคือขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับโจทย์ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่เราทำด้วยครับผม

กระบวนการแต่งเพลงทุกวันนี้ของเต๊นท์ ศิวนัส
           ส่วนตัวของเต๊นท์ไม่ได้มีกระบวนการที่ชัดเจนนะครับว่าเราจะต้องเริ่มต้นลำดับ 1 2 3 4 แบบนี้ทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าเริ่มต้นที่องค์ประกอบทางดนตรีอะไรมาก่อนนะครับ
            อย่างเช่นถ้ามีคอร์ดมาก่อน ด้วยการที่เราไปนั่งเล่นเปียโนจนเกิดการเดินทางของคอร์ดที่เราชอบแล้วนี่ ทำนองก็อาจจะตามมา  แล้วก็ค่อยใส่เนื้อเรื่องแล้วค่อยเอาไปเรียบเรียง    
            หรือบางทีเราอาจจะเริ่มจากการที่เราเลือกซาวด์ไลบรารี่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเสียงสังเคราะห์ เสียงแซมเปิล เสียงลูปต่างๆ จากในคอมอันนั้นก็เริ่มต้นได้ ก็จะเริ่มจากการสแต็กกิ้ง (Stacking) เสียงพวกนั้นให้กลายเป็นการเรียบเรียงเป็นท่อนคร่าวๆ ก่อนแล้วค่อยทำทำนองแล้วก็หาเนื้อเรื่องเข้าไป
            หรือว่าเราอาจจะมีเนื้อเรื่องมาก่อนก็ได้นะครับ อย่างเช่นเราเจอคำๆ นี้ วลีนี้เราชอบมากเลยก็เอาเนื้อเพลงมาตั้งต้นแล้วก็ใส่ทำนอง  ใส่คอร์ดให้มันแล้วก็เรียบเรียงมัน เพราะฉะนั้นสำหรับผมกระบวนการอาจจะเริ่มจากตรงไหนก็ได้นะครับ ซึ่งก็แนะนำน้องๆ นะครับว่า ถ้าเราถนัดแบบไหน  ก็ลองเลย การสร้างเพลงๆ หนึ่งขึ้นมา เป็นแบบไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราถนัดอย่างไร
 

D-OK feat. Summer Dress -  ออม Telex Telexs
 
ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดเวลาแต่งเพลง
            ปัญหาจากการที่เราทำเพลงแต่งเพลงนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเนื้อเรื่อง เรียบเรียงดนตรี หรือเริ่มประพันธ์ดนตรีขึ้นมา ผมว่าปัญหาสำหรับผมคือ พอทำไปถึงจุดหนึ่งในเพลงๆ หนึ่ง สมมุติว่าทำไปสัก 1นาที เราจะเริ่มตันและเราจะเริ่มคิดไม่ออกว่าท่อนต่อไปหรือว่าสิ่งที่กำลังจะดำเนินต่อไปจะเป็นอะไรนะครับ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งอาจารย์ผมก็เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการคอมโพสิชั่นเพลงหรือว่าเรื่องเกี่ยวกับดนตรีทั้งหมดเลยนะครับ
 คือดนตรีนี่  การรับฟังการรับรู้ของมันดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ เขาบอกว่าก็พยายามให้คิดเรื่องการเทนชั่น (Tension – ความตึงเครียด) กับรีลีส (Release –คลี่คลาย) ว่า เราจะบริหาร เทนชั่นกับรีลีสนี้ยังไงนะครับ
            อย่างเช่นเราทำเนื้อร้องอยู่ ท่อนที่เรากำลังติดอยู่หรือว่าเรากำลังสร้างไปแล้ว เป็นความตึงเครียดบางอย่างที่รอการคลี่คลายไหม เช่น เนื้อร้องอาจเริ่มมี มีปัญหาอะไรบางอย่าง ท่อนต่อไปเราอาจจะเริ่มเขียนในสไตล์ที่เนื้อหาเริ่มคลี่คลายลง เริ่มมีข้อสรุปเริ่มมีตัวละครใหม่ๆเข้ามา  มีบทบาทในเนื้อเพลงมากขึ้นอย่างนั้นเป็นต้นนะครับ
            หรือว่า ในเรื่องของดนตรี การทำทำนองก็ใช้หลักการนี้ได้เหมือนกันเลย  รวมๆ คือการบริหาร ตัวเทนชั่นกับรีลีสนี่แหละ ผมว่าก็จะเป็นทางแก้ไขได้นะครับ
            แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเรายังเริ่มต้นอยู่นะครับก็พยายาม หา element (องค์ประกอบ) เนาะ ฟังเพลงที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานี่แหละแล้วก็พยายามลองดึงมาใช้นะครับว่า วิธีการแบบนี้น่าจะเวิร์กกับเพลงของเรา ก็ลองมาใช้ดูได้ครับ

The Beatles Fever – Summer Dress
 
คำถามถึงอาจารย์เต๊นท์และคำตอบ
          ถ้าเป็นนักศึกษาปีต้นๆ นะครับ ปี 1 ปี 2 เขาอาจจะยังไม่ค่อยได้เริ่มทำผลงานนะครับ ยังไม่ได้ลงมือแต่งเนื้อร้อง ยังไม่ได้ลงมือเรียบเรียงดนตรี หรือยังไม่ได้ทำโปรดักชั่นเกี่ยวกับดนตรีมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะมีคำถามในเรื่องทฤษฎีนะครับ ว่าโมทีฟ (motif)  คืออะไร การสร้างโมทีฟให้หลากหลายนี่คืออะไร หรือว่าการคอนทราสต์ (contrast) คืออะไร ซึ่งเรื่องพวกนี้จะเป็นเรื่องที่เด็กปีต้นๆ นี่สงสัยมากนะครับ เราก็จะอธิบายก็ตามคำนิยามของมันนะครับแล้วก็การนำไปใช้
            ซึ่งสามคำที่ผมพูดออกไปนี่ โมทีฟ แวรีเอชั่น (variation) คอนทราสต์ นี่ เป็นวิธีคิดในการสร้างทำนอง โมทีฟก็คือเหมือนกับเป็นกิมมิก (gimmick) เล็กๆ ทางขั้นคู่เสียงหรือว่าทางจังหวะนะครับที่ทำให้เรารู้ว่าเพลงนี้มันคือเพลงอะไร  อาจจะเป็นเพลงของบีโทเฟนอย่างเช่นโมทีฟ ปัมๆๆ (ฮัมประกอบ) เป็นสามโน้ตที่จะถูกใช้ให้มีความหลากหลายมากขึ้นภายในเพลง ทำให้เรารู้ว่าคือซิมโฟนีเบอร์นี้นะครับ ของบีโทเฟน 
            ส่วนตัวคอนทราสต์ก็คือ การทำให้ตัวแนวทำนอง เกิดสีสันที่แตกต่างกัน  โน้ตในช่วงท่อนเวิร์ส กระจัดกระจายอยู่ประมาณสามโน้ต โดเรมี มีเรโด มีเรโด เรมีมี แต่พออยากให้เกิดคอนทราสต์เราก็เริ่มต้นด้วยสูงก่อนเลย ซอลโด้ ก็เป็นตัวอย่างการใช้วิธีคอนทราสต์ ซึ่งทำให้เพลงสื่อสารกับเราได้มากขึ้นนะครับ
            ส่วนถ้าเด็กโตๆ ขึ้นมาหน่อย ก็จะเริ่มทำงานเป็นแล้วนะครับ ทั้งเชิงการแต่งเพลงทั้งเรื่องของโปรดักชั่น ส่วนใหญ่ก็จะมาถามเรื่องของโปรดักชั่น เรื่องของเทคนิคัล ว่าซาวด์สังเคราะห์ตรงนี้ ทำอย่างไรนะครับ หรืออันนี้มันใส่รีเวิร์บหรือเปล่าหรือว่า จะส่งงานมาให้คอมเมนต์ให้เราติชมกันไปว่าเขาควรจะแก้อะไรบ้างนะครับ 
 

Symphony No.5 - Beethophen  
คำแนะนำถึงรุ่นน้อง
            ถ้าเราอยากมีเพลง ทำงานดนตรีด้วย เป็นโปรเจกต์ของเราเอง หรือว่าเป็นศิลปินนี่ ผมคุยกับเพื่อนหลายคน อย่างจิน (วรเมธ มตุธรรมธาดา) ที่ทำโปรเจกต์ Part Time Musicians นะครับ เขาก็บอกว่าต้องซื่อสัตย์แล้วก็จริงใจกับงานตัวเองมากๆ ก่อน อย่าเพิ่งไปรู้สึกว่าอยากจะทำแบบนี้ เพราะว่าคนอื่นเขาทำกันเยอะ หรือว่าเราจะทำอันนี้เพราะว่าได้รับการยอมรับอะไรบางอย่างจากสังคมคนฟังเพลง จากสังคมคนคนทำเพลง
            ซึ่งอยากแนะนำว่าเราพยายามจริงใจในแบบที่เราทำก่อนนะครับ แรกๆ ก็อาจจะยังไม่ค่อยดีหรอก ผลงานแรกไม่มีใครทำเพลงได้ดีเลยอยู่แล้วนะครับ เดี๋ยวเราก็จะค่อยๆ ได้รับพลังหรือว่าได้รับตัวทักษะมากขึ้นนะครับ จากการทำเยอะๆ นะครับ แล้วก็พยายาม              
            นอกเหนือจากความจริงใจที่เราจะทำขึ้นมาแล้ว ความซื่อสัตย์ที่เราทำในงานของเราแล้วนะครับ ก็พยายามตั้งคำถามกับงานเราบ่อยๆว่า มันกำลังไปในทิศทางไหนแล้วเราอยากให้มันเป็นแบบไหนต่อไปครับ หรือเราจะพัฒนาความหลากหลายในงานของเราให้มีสีสันมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร พวกนี้ก็จะทำให้ ตัวงานของเราหรือว่าสังคมดนตรีของเรามีความหลากหลายมากขึ้นนะครับ มีทางเลือกให้ผู้ฟังแล้วก็ช่วยตัวสังคมของดนตรีของเรา ให้ก้าวไปอีกระดับได้นะครับ   

Joviality of Shadow - Summer Dress
 
นักแต่งเพลงคนอื่นที่เต๊นท์สนใจหรืออยากฝากเราไปถามเคล็ดลับ
            ผมชอบเพลงของพี่เป้ อารักษ์มากนะครับ 2-3 เพลงหลัง ยิ่งสนใจว่าเขาคิดตัวเนื้อร้องอย่างไรนะครับ เป็นประสบการณ์จริงหรือเปล่า หรือว่าเป็นเรื่องที่เขาเขียนขึ้นมาจากสิ่งรอบตัวเขาหรือว่าเขาจินตนาการขึ้นมาจนกลายเป็นเนื้อเพลงนี้ 
            แล้วก็จะมีโปรดิวเซอร์ของพี่เป้ อารักษ์  ชื่อ MACHINA (เมฆ - สุขุม อิ่มเอิบสิน ที่ผมสนใจในวิธีการทำเพลงมากๆ ก็ทางแคท เรดิโอสามารถสัมได้ก็ยินดีมากๆเลยนะครับ ขอบคุณมากเลยครับ 
 
            (อ่านเคล็ดลับของเป้ อารักษ์ ได้ที่ Bed Tips http://www.thisiscat.com/news/detail/20983 )
ติดตามผลงานของเต็นท์ได้ที่  https://smarturl.it/summerdressFB  http://smarturl.it/gameofsoundsFB
และฟังเคล็ดลับของนักแต่งเพลงหลากหลายแนวได้จากช่วง Bed Tips ในรายการ Bedroom Studio ทุกวันเสาร์ 11.00-  14.00 ที่ Cat Radio
 
รู้ไปทำแมว
            ตัวอย่างภาพยนตร์ที่เต๊นท์ร่วมทำเพลงประกอบ เช่น Hotel Mist กำกับโดย ปราบดา หยุ่น (เต๊นท์ทำเพลงร่วมกับ ไผ่ – จิติวี บาลไธสง จากวง PLOT) The Master กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (เต๊นท์ทำเพลงร่วมกับอาจารย์พิซซ่า - ชัยบรรฑิต พืชผลทรัพย์ จากวงพราว)


 

MUSIC SWEEP

02:36-02:36

Listen Live

Now Playing